วันจันทร์ที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2561

กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ปฏิบัติการช่วยเหลือพื้นที่ปลูกข้าว อ.พิชัย จังหวัด อุตรดิตถ์ รอดแล้วกว่า 50,000 ไร่

นาข้าวในพื้นที่อับฝน อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์ รอดแล้วกว่า 50,000 ไร่ 


กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ปฏิบัติการช่วยเหลือพื้นที่ปลูกข้าว อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์ และพื้นที่การเกษตรที่ต้องการน้ำประสบความสำเร็จต่อเนื่อง โดยระมัดระวังและหลีกเลี่ยงพื้นที่การเกษตรที่กำลังเก็บเกี่ยว และยังคงเติมน้ำในอ่างเก็บน้ำและเขื่อนที่มีความต้องการ เพื่อรองรับการอุปโภคบริโภคและการเกษตรให้มากที่สุด

 

 วันที่ 22 ตุลาคม 2561 เวลา 13.30 น. นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า จากการติดตามสถานการณ์พื้นที่การเกษตรในหลายภูมิภาคของประเทศ พบว่า      ยังคงมีพื้นที่การเกษตรที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำสำหรับพืชที่กำลังอยู่ในระยะเติบโตหลายพื้นที่ โดยเฉพาะทางภาคเหนือบริเวณตำบลนาอินและนายาง อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ มีเกษตรกรขอรับบริการฝนหลวง    เข้ามาผ่านทางเกษตรอำเภอ เจ้าหน้าที่จึงได้ลงพื้นที่สำรวจพบว่าบริเวณดังกล่าวกำลังปลูกข้าวจำนวนกว่า     50,000 ไร่ เป็นบริเวณพื้นที่ดอนอับฝน มีฝนตกน้อย และอยู่นอกเขตชลประทาน จึงทำให้มีน้ำไม่เพียงพอสำหรับการเจริญเติบโตของข้าวในระยะตั้งท้องที่คาดว่าจะสามารถเก็บเกี่ยวได้ในช่วงเดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม      จึงเร่งปฏิบัติการช่วยเหลือทันทีเมื่อสภาพอากาศเอื้ออำนวย เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม โดยทำให้มีฝนตกในพื้นที่   ปลูกข้าว วัดปริมาณน้ำฝนได้ 33 มิลลิเมตร ซึ่งสามารถช่วยหล่อเลี้ยงต้นข้าวให้เจริญเติบโตได้ต่อไปอีกระยะหนึ่ง นอกจากนี้ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร สามารถช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรที่ร้องขอฝนบริเวณจังหวัดขอนแก่น มหาสารคาม หนองบัวลำภู ชัยภูมิ เลย นครราชสีมา บุรีรัมย์ สระบุรี ลพบุรี นครสวรรค์ อุทัยธานี กาญจนบุรี สุพรรณบุรี และสระแก้ว โดยในภาพรวมของการปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม – 21 ตุลาคม 2561 มีพื้นที่ที่ได้รับการช่วยเหลือ จำนวนทั้งสิ้น 137.57 ล้านไร่

นายสุรสีห์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการปฏิบัติการฝนหลวงเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักให้กับ      เขื่อนและอ่างเก็บน้ำต่างๆ ที่มีความต้องการนั้น กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ยังให้ความสำคัญและ           เร่งทำฝนตามแผนปฏิบัติการที่ได้มีการขยายเวลาไปจนถึงกลางเดือนพฤศจิกายนนี้ โดยจะช่วยเหลืออ่างเก็บน้ำ      ที่มียังมีปริมาณน้ำเก็บกักน้อย เช่น อ่างเก็บน้ำห้วยน้ำลาด อ่างเก็บน้ำคลองโพธิ์ จังหวัดนครสวรรค์ อ่างเก็บน้ำ  ลำมูลบน จังหวัดนครราชสีมา อ่างเก็บน้ำห้วยยาง จังหวัดสระแก้ว เป็นต้น รวมถึงอ่างเก็บน้ำและเขื่อนอื่นๆ      ก็จะเร่งปฏิบัติการเพื่อให้มีปริมาณน้ำเก็บกักรองรับฤดูแล้งให้มากที่สุดเช่นกัน โดยผลการปฏิบัติการเพิ่มปริมาณ   ตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน – 20 ตุลาคม 2561 มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ จำนวน 121.612 ล้าน ลบ.ม. จากแผนคาดการณ์ 155 ล้าน ลบ.ม. ทั้งนี้ เกษตรกรและประชาชนสามารถแจ้งขอรับบริการฝนหลวงได้ที่  ตัวแทนอาสาสมัครฝนหลวงในแต่ละพื้นที่หรือแจ้งกับเจ้าหน้าที่ประจำหน่วย/ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงทั้ง       5 ภูมิภาค และสามารถติดตามข่าวสารได้ทาง www.royalrain.go.th เพจ Facebook กรมฝนหลวงและการบินเกษตร และการรายงานข่าวปฏิบัติการฝนหลวงประจำวันทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ...ข้อมูลจาก..กรมฝนหลวงและการบินเกษตร 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

"รอง ผบช.ภ.9/รอง ผบช.ศปก.ตร. สน. เป็นประธานเปิด การประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการผู้นำหน่วย ของตำรวจภูธรภาค9/ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห...