"ฝนหลวงฯ!! ครบรอบ 6 ปี มุ่งมั่นสานต่องานศาสตร์พระราชา ปฏิบัติการฝนหลวงและพัฒนางานวิจัย เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและประชาชนให้มีสุขอย่างยั่งยืน!!
กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ครบรอบปีที่ 6 แห่งการได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นกรม พร้อมก้าวสู่ปีที่ 7 ด้วยความมุ่งมั่นพัฒนางานวิจัยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติการฝนหลวง โดยน้อมนำศาสตร์พระราชา ตำราฝนหลวงพระราชทาน มาเป็นแนวทางการปฏิบัติงาน เพื่อช่วยแก้ไขและบรรเทาปัญหาของประชาชนและเกษตรกรให้สมดังพระราชปณิธานรัชกาลที่ 9 และเผยแพร่แนวทางการทำฝนแก้ปัญหา ภัยแล้งสู่ต่างประเทศเพื่อช่วยเหลือประชาชนในระดับโลก
วันที่ 25 มกราคม 2562 วันคล้ายวันสถาปนากรมฝนหลวงและการบินเกษตร ครบรอบปีที่ 6 นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้เกียรติเดินทางมาแสดงความยินดีและอำนวยพรเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่บุคลากรกรมฝนหลวงและการบินเกษตรในการปฏิบัติหน้าที่ พร้อมทั้งเป็นประธานในพิธีเปิดพิพิธภัณฑ์และห้องสมุดกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ซึ่งเป็นแหล่งศึกษา ที่เปิดให้ประชาชน นักเรียน นักศึกษา และผู้สนใจ ค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับความเป็นมาโครงการพระราชดำริ ฝนหลวง พระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ความรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติการฝนหลวง งานวิจัยต่างๆ และความรู้ทั่วไป
โดยมีหน่วยงานต่างๆ ทั้งในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หน่วยงานร่วมบูรณาการ ภาครัฐ เอกชน ร่วมแสดงความยินดีในโอกาสนี้ด้วย นอกจากนี้ ยังมีพิธีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านวิชาการ กับ 2 หน่วยงาน ได้แก่ กรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง ความร่วมมือทางวิชาการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำ และร่วมกับคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสถาบันโลกร้อนศึกษาประเทศไทย มูลนิธิสภามิตร เรื่อง ความร่วมมือทางวิชาการทางด้านวิทยาศาสตร์บรรยากาศ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ การปฏิบัติการฝนหลวง ซึ่งมุ่งหวังให้เกิดประโยชน์ต่อการสนับสนุนภารกิจการปฏิบัติการฝนหลวง
ด้าน นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า นับตั้งแต่ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้รับการสถาปนาขึ้นเพื่อสนองงานโครงการพระราชดำริฝนหลวงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในการบริหารจัดการน้ำในชั้นบรรยากาศและการดัดแปรสภาพาอากาศ เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาให้กับเกษตรกรและประชาชน ทั้งในเรื่องปัญหาภัยแล้ง การขาดแคลนน้ำ เพื่อการอุปโภคบริโภค ปัญหาหมอกควันไฟป่า ฝุ่นละอองในอากาศ ตลอดจน
การบูรณาการจัดการทรัพยากรน้ำกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้ดำเนินงาน โดยน้อมนำแนวทางศาสตร์พระราชา ตำราฝนหลวงพระราชทาน มาเป็นหลักในการปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด สมดังพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ด้วยความตั้งใจและมุ่งมั่นเสมอมา และตลอดระยะเวลา 6 ปีที่ผ่านมา
กรมฝนหลวงฯ สามารถสนองตอบภารกิจงานของประเทศในการปฏิบัติการทำฝนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและประชาชนที่ขาดแคลนน้ำได้ค่อนข้างสมบูรณ์ โดยประสิทธิภาพการทำฝนอยู่ที่ประมาณ 95 % ขึ้นไป ในแต่ละปีสามารถช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรได้ถึง 200-300 ล้านไร่ รวมทั้งมีการพัฒนางานวิจัยและเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำฝน รวมถึงในด้านความร่วมมือกับต่างประเทศและการเผยแพร่ศาสตร์พระราชาในต่างแดน ก็ยังคงดำเนินงาน อยู่อย่างต่อเนื่องเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ประสบปัญหาภัยแล้งด้วยเช่นกัน
นายสุรสีห์ กล่าวต่ออีกว่า สำหรับแผนการดำเนินงานในการก้าวสู่ปีที่ 7 ของกรมฝนหลวงฯ ยังคงดำเนินงานและภารกิจต่างๆ มากมาย ได้แก่ การขับเคลื่อนโครงการวิจัยต่างๆ เช่น การศึกษาวิจัย การทำฝนด้วยเทคนิคเผาจากภาคพื้น (Ground Based Generator) จะทดลองในพื้นที่ดอยหล่อ จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นพื้นที่อับฝน โดยการเผาให้เป็นควันอนุภาพเล็กๆ ลอยขึ้นไปหาเมฆ เพื่อทำกระบวนการให้เกิดฝน รวมทั้งโครงการวิจัยพัฒนาอากาศยานไร้นักบิน (UAV)
เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติการฝนหลวงแบบเมฆอุ่นโดยใช้ UAV ยิงพลุสารเคมีซิลเวอร์ไอโอไดด์ และเป็นส่วนหนึ่งในการสืบสานศาสตร์พระราชา นอกจากนี้ จะมีการปรับขยายศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงเพิ่มขึ้นจากเดิม 5 ศูนย์ คือ ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวง จ.บุรีรัมย์ คาดว่าจะดำเนินการจัดตั้งแล้วเสร็จกลางปี 2562 และจะมีการพิจารณาย้ายศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวง จ.เชียงใหม่ มาประจำการ ที่ จ.ตาก แทน
เนื่องจากสนามบินเชียงใหม่จราจรค่อนข้างแออัด ไม่สะดวกในการขึ้นบินปฏิบัติการ รวมทั้งมีการตั้งศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวง เพิ่มอีกแห่งที่ จ.พิษณุโลกในปี 2563 รวมทั้งเร่งดำเนินการจัดตั้งโรงเรียนการบินฝนหลวง ที่จ.ตาก เพื่อลดปัญหาการขาดแคลนนักบิน พร้อมรองรับความร่วมมือระหว่างประเทศในส่วนของนักบินต่างประเทศที่เข้ามาเรียนรู้การบินทำฝนหลวง เนื่องจากการบินทำฝนแตกต่างจากการบินปกติ และจัดสร้างศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการดัดแปรสภาพอากาศ ที่จ.เพชรบุรี
เป็นแหล่งความรู้ด้านงานวิจัยงานวิชาการ โดยเป็นศูนย์อบรมเพิ่มพูนความรู้ให้กับบุคลาการฝนหลวง และต่างประเทศที่สนใจ โดยทั้งโรงเรียนการบินฯ และศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีฯ คาดว่าจะเห็นเป็นรูปธรรมในปี 2567 อย่างแน่นอน!!
#ประชาสัมพันธ์กรมฝนหลวงและการบินเกษตร !!
************************************
:ทีมข่าว Thailandpressnews รายงาน!!
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น